ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากการตีบและอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด
โรคเส้นเลือดสมองตีบ
โรคเส้นเลือดสมองตีบเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากการตีบและอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด หรือเกิดอัมพฤษก์ อัมพาตอย่างถาวรได้ และในบางรายที่เป็นรุนแรง อาจถึงขึ้นเสียชีวิต ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและได้รับการรักษาอย่างทันถ่วงที อาจสามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้
อาการของโรคเส้นเลือดสมองตีบ
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเส้นเลือดสมองตีบนั้น เบื้องต้นจะมีอาการชาที่แขนและขา อ่อนแรง เวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก หน้าเบี้ยว พูดลำบากหรือฟังไม่เข้าใจ ตาพร่ามัว มองไม่เห็นหรือเห็นภาพทับซ้อน ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน และอาการอาจเกิดขึ้นได้หลายอาการในคราวเดียวกัน หากเกิดอาการนานกว่าปกติหรือไม่มีท่าทีจะทุเลาลง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาให้หายได้อย่างทันท่วงที
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบ
– โรคเบาหวาน โรคนี้ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบและทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่สมองถูกอุดตันและทำให้เกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบ
– โรคความดันโลหิตสูง สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะทำให้เส้นเลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ และทำให้เส้นเลือดตีบหรือแตกได้
– โรคหัวใจ อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดและทำให้ลิ่มเลือดนั้นไหลหลุดไปอุดที่เส้นเลือดสมองได้
– พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การขาดการออกกำลังกาย, การสูบบุหรี่, ไขมันในเลือดสูง ไปจนถึงฮอร์โมนบางชนิด
วิธีการป้องกันโรคเส้นเลือดสมองตีบ
เมื่อเราทราบสาเหตุแล้วก็พิจารณาปรับเปลี่ยนตามปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งอายุและเพศเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ปัจจัยอื่นเราสามารถปรับได้ ได้แก่
- ปรับพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยควรมีการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เพื่อเสริมความแข็งแรงของหัวใจและปอด เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
- พบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อรักษาโรคประจำตัวให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยให้มีดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 kg/m2
สามารถคำนวณได้โดย
ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หาร ส่วนสูง (เมตร)²
รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค หลีกเลี่ยงอาหารที่หวานจัด มีน้ำตาลสูง หลีกเลี่ยงอาหารทอด มันจัด และเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง หลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด ผ่านกระบวนการแปรรูป ผ่านการปรุงแต่งมาก อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง เน้นการรับประทานรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ
ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างละเอียด เพื่อคัดกรองความเสี่ยงและเฝ้าระวังตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนที่จะแสดงอาการ โดยเฉพาะการตรวจสมองและหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI and MRA Brain) ซึ่งจะช่วยคัดกรองความเสี่ยง และตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ขอบคุณข้อมูล : รพ.เวชธานี , sanook